มตช-9 มาตรฐานที่ผู้ผลิตและผู้ใช้งานพลาสติกรีไซเคิลต้องรู้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมนานาชาติ

มาตรฐานของอุตสาหกรรมรีไซเคิล

เกี่ยวกับ มตช-9

Update ล่าสุด มาตรฐาน มตช.-9 ได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 เรียบร้อยแล้ว

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ประกาศใช้ มาตรฐาน มตช.-9 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 เรียบร้อยแล้ว

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมานี้ ทาง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีการจัดทำเอกสารเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่างมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ การตรวจสอบย้อนกลับ พลาสติกรีไซเคิล และการประเมินความสอดคล้องและส่วนผสมของการ รีไซเคิล ซึ่งเราเรียกกันสั้นๆว่า มตช-9

ซึ่งเนื้อหาใจความสำคัญของ มาตรฐาน นี้จะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ในทุกภาคส่วนของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ พลาสติกรีไซเคิล เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ภาคธุรกิจจัดเก็บรวบรวมขยะพลาสติก, ธุรกิจคัดแยกขยะและทำความสะอาด, อุตสาหกรรมแปรรูปขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบ พลาสติกรีไซเคิล และธุรกิจขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้วัตถุดิบเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เป็นส่วนประกอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานทางการตรวจสอบย้อนกลับและการควบคุมคุณภาพให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ของไทย พร้อมทั้งสามารถระบุอัตราส่วนผสมของ พลาสติกรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ได้

ซึ่ง มาตรฐาน มตช-9 นี่เป็น มาตรฐาน ที่มีความทัดเทียมกับ มาตรฐานสากล เนื่องจากทางฝั่งประเทศไทยของเราได้ทำการรวบรวมเนื้อหาใจความสำคัญต่างๆจาก มาตรฐานสากล และนำมาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยนำมาทั้งสิ้น 5 มาตรฐาน ด้วยกัน คือ

  1. มาตรฐาน ISO 22905:2020  ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Chain of Custody – General Terminology and Models
  2. มาตรฐาน BS EN 15343:2007 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Plastics – Recycled Plastics – Plastics Recycling Traceability and Assessment of Conformity and Recycled Content
  3. มาตรฐาน BS EN 15347:2007 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ Plastics – Recycled Plastics – Characterization of Plastics Waste
  4. มาตรฐาน EuCertPlast Audit Scheme Version 4.1
  5. มาตรฐาน Recycled Standard Version 4.0

แนวทางปฏิบัติตาม มาตรฐาน มตช-9 ในประกาศระบุไว้ว่า องค์ที่มีความต้องการปฏิบัติตามหรือแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องตามมาตรฐานนี้ สามารถทำได้ทั้งสิ้น 3 แนวทางด้วยกัน

  • พิจารณาด้วยตนเองและประกาศตนเอง (Self-declaration)
  • ให้การยืนยันความสอดคล้องโดยหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กร เช่น ลูกค้า
  • ให้การรับรองโดยหน่วยงานภายนอกองค์กร เช่น ผู้ทวนสอบ มาตรฐาน

มาถึงตรงนี้หลายๆท่านอาจจะมีคำถามว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยเราจึงต้องมี มาตรฐาน ตัวนี้ขึ้นมา เราก็ดำเนินธุรกิจที่คเกี่ยวข้องกับพลาสติกรีไซเคิล ของเราอยู่ดีๆ แล้วทำไมจะต้องมาปฏิบัติตาม มาตรฐาน อะไรก็ไม่รู้ ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่มาจากต่างประเทศ มันจะยุ่งยากเกินไปไหมจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจของเราโดยไม่จำเป็นหรือเปล่า แล้วเนื้อหาใน มาตรฐาน มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง …ผมจะมาสรุปให้ทุกๆได้เข้าใจและได้รู้เกี่ยวกับรายละเอียดของมตช-9 กันครับ

เพราะเหตุใดต้องมี มตช-9

สืบเนื่องมาจากปริมาณการใช้งานพลาสติกทั่วโลกมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการจัดการขยะพลาสติกล้นเมือง สร้างความยุ่งยากและการมีต้นทุนที่สูงในการจัดเก็บและจัดการ ทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนของขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม หรือจะเป็นการกำจัดขยะพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธีทำให้เกิดมลภาวะหรือสารพิษเข้าสู่ชั้นบรรยากาศก่อให้เกิดอันตรายกับระบบนิเวศน์ เป็นต้น 

ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนทั่วโลกจึงเกิดแนวคิดในการลดปริมาณการใช้งานพลาสติกที่ไม่จำเป็นลง อาทิเช่น มาตรการยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง งดแจกถุงพลาสติกในซุเปอร์มาร์เกตหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ และมาตรการที่สำคัญที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากก็คือการส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกเพื่อนำกลับมาใช้งานเป็นวัตถุดิบในรอบการผลิตถัดไปทั้งนี้เพื่อลดการใช้งานวัตถุดิบเม็ดพลาสติกที่ได้จากกระบวนการทางปิโตรเคมี ซึ่งในกระบวนการผลิตนั้นมีการใช้พลังงานและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมาก

สำหรับในประเทศไทยนั้น ความตื่นตัวทางด้านการรีไซเคิลขยะพลาสติกก็มีมากเช่นกัน โดยทางภาครัฐบาลได้มีการบรรจุวาระเร่งด่วนในการสนับสนุนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เราเรียกกันสั้นๆว่า BCG Model โดยอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล นั้น อยู่ในขอบข่ายของเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวคือ มีการหมุนเวียนนำขยะพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วนำกลับมาผ่านกระบวนการและใช้งานเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกทอดหนึ่ง ซึ่งผลจากการส่งเสริมตรงส่วนนี้ เป็นผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล อย่างมาก โดยจะทำให้อุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ในประเทศไทยนั้นเติบโตเป็นอย่างมาก

ดังนั้นเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ซึ่งหมายถึง ปริมาณของขยะพลาสติกที่จะถูกนำกลับมารีไซเคิลที่มากขึ้น และวัตถุดิบเม็ดพลาสติกที่จะถูกนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์มากขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างที่กล่าวมานี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย และมี มาตรฐานเทียบเท่าสากล ทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแห่งชาติ จึงต้องออกมาตรฐาน มตช-9 ฉบับนี้โดยมีสาระใจความสำคัญหลักๆของมาตรฐานนี้ ทั้งหมด 14 หัวข้อ ดังต่อไปนี้ครับ

ขอบข่ายของมาตรฐาน มตช-9

ใจความสำคัญของมาตรฐานนี้จะมีหน่วยธุรกิจที่เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง (Actors) อยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ 

  1. ธุรกิจคอมพาวด์เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (Recycled Plastics Compounders) – โดยถือเป็นต้นทางของหน่วยธุรกิจที่จะเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ การรับเข้าขยะพลาสติก แหล่งที่มาของขยะ พลาสติกรีไซเคิล กระบวนการจัดการขยะ พลาสติกรีไซเคิล (คัดแยก บดย่อย ทำความสะอาด) จนมาถึงขั้นตอนของการคอมพาวด์ออกมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก
  2. ธุรกิจผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติก (Convertors) – โดยถือเป็นผู้ใช้งานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้อมูลสำคัญที่ต้องเก็บรวบรวมสำหรับส่วนธุรกิจนี้ จะมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ปริมาณและอัตราส่วนผสมของวัตถุดิบ พลาสติกรีไซเคิล ที่ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกชิ้นนั้นๆ

โดยสามารถแสดงขอบเขตของการเก็บข้อมูลได้ตามแผนภาพด้านล่าง

ขอยข่าย มาตรฐาน มตช-9 ของ พลาสติกรีไซเคิล

การกำหนดมาตรฐานนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้สำหรับองค์กรที่ต้องการมีขั้นตอนและข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับการรีไซเคิลพลาสติก รวมถึงหน่วยงานด้านกฎระเบียบ หน่วยรับรอง และหน่วยงานอื่นๆ สามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์สำหรับตรวจสอบและรับรองได้

แนวทางการปฏิบัติในการจัดเก็บข้อมูล ของ มตช-9

  1. หน่วยธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องทั้ง 2 หน่วยที่ได้กล่าวได้ข้างต้นนั้น จะต้องมีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ ให้กับเจ้าหน้าที่ในองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต่างๆ เช่น การจัดซื้อการทำสมดุลมวลและการกระทบยอด (reconcile) การจัดเก็บ การจัดการกระบวนการผลิตการแปรรูปพลาสติก การควบคุมคุณภาพในการผลิต และการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต
  2. ผู้เกี่ยวที่มีหน้าที่ในข้อที่ 1. นั้น จะต้องมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับที่ทางมาตรฐานกำหนด และต้องดำเนินการเก็บรักษาข้อมูล เอกสารต่างๆในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศ ด้วย
  3. ภาคส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน อาทิเช่น อาคาร สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เครื่องจักร ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ และทรัพยากรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลตามข้อกำหนดของมาตรฐานนี้
  4. ธุรกิจต้องมีการจัดเก็บข้อมูลและควบคุมเอกสารสารสนเทศ เพื่อให้มีความถูกต้อง การควบคุมการแจกจ่าย การใช้ การจัดเก็บ การกำหนดระยะเวลาการเก็บและทำลาย ทั้งนี้เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน และเป็นหลักฐานในการทวนสอบเพื่อแสดงถึงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐาน

การควบคุมการรับเข้าวัสดุ พลาสติกรีไซเคิล

ทางภาคธุรกิจต้องกำหนดรูปแบบการบันทึกข้อมูลและมาตรฐานคุณสมบัติของวัสดุพลาสติกรีไซเคิลที่รับเข้า โดยสามารถแสดงตัวอย่างได้ดังนี้

ตัวอย่างสำหรับการกำหนดข้อมูลการส่งมอบขยะพลาสติก

ข้อมูลมาตรฐาน ขยะพลาสติกรีไซเคิล

ตัวอย่างสำหรับการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของวัสดุพลาสติกที่รับเข้า

คุณสมบัติของขยะ พลาสติกรีไซเคิล รับเข้า
คุณสมบัติของขยะ พลาสติกรีไซเคิล รับเข้า

การจัดเก็บวัสดุ พลาสติกรีไซเคิล

ในส่วนนี้ทางมาตรฐานได้กำหนดแนวทางในการจัดเก็บโดยมุ่งเน้นไปที่ข้อมูลของวัสดุพลาสติกรีไซเคิล ตั้งแต่ในขั้นตอนการรับเข้า ซึ่งต้องสามารถระบุถึง Supplier ที่เกี่ยวข้องได้ข้อมูลปริมาณวัตถุดิบที่สามารถตรวจเชคได้ เมื่อมีความต้องการในการเรียกใช้ข้อมูล  มีระบบควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายออกของวัตถุดิบ ที่มีมาตรฐาน

ในด้านสถานที่ที่ใช้ในการจัดเก็บวัสดุนั้น ต้องมีลักษณะเหมาะสมมิดชิด เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพ และไม่เป็นการลดทอนคุณภาพของวัสดุ พลาสติกรีไซเคิล

ผู้รับจ้างช่วง

ผู้รับจ้างช่วงในที่นี้หมายถึง บริษัทหรือบุคคลที่เราได้ทำการว่าจ้างหรือทำสัญญาเพื่อให้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกในกับทางบริษัทของเรา ในช่วงเวลาและปริมาณที่ตกลงกันไว้ ซึ่งแนวทางที่ทางมาตรฐานได้กำหนดเอาไว้ คือ ผู้รับจ้างช่วงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานแทนบริษัทได้เป็นอย่างดี และมีระบบในการทำงานที่เป็นมาตรฐานในองค์กร โดยในส่วนของทางผู้ว่าจ้างนั้นจะต้องมีการเก็บข้อมูลสารสนเทศ ดังนี้

  1. วันที่ส่งวัสดุ พลาสติกรีไซเคิล เพื่อนำไปให้ผู้รับจ้างช่วงดำเนินการ
  2. ชื่อ บริษัท และที่อยู่ของผู้รับจ้างช่วง
  3. ชนิดและเกรดของวัสดุ พลาสติกรีไซเคิล และน้ำหนักที่ส่งมอบให้กับผู้รับจ้างช่วง

ทั้งนี้เมื่อมีการว่าจ้างผู้รับจ้างช่วงเกิดขึ้นนั้น ในส่วนขององค์กรของเราก็ยังคงเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพของเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่นเดียวกับในกรณีที่ทางเราผลิตเอง

กระบวนการรีไซเคิล

ในส่วนนี้ทางมาตรฐาน มตช-9 ได้มีการระบุการเก็บข้อมูลในขั้นตอนที่สำคัญของกระบวนการรีไซเคิล เพื่อวัตถุประสงค์ในการทวนสอบย้อนกลับของกระบวนการได้ โดยข้อมูลที่ทางมาตรฐานแนะนำ ได้แก่ กำลังการผลิตขององค์กร อัตราการผลิตที่แท้จริง สเปคของอุปกรณ์/เครื่องจักรที่ใช้ ปริมาณวัสดุ พลาสติกรีไซเคิล ที่รับเข้า ปริมาณการรีไซเคิลที่ว่าจ้างผู้รับจ้างช่วงการใช้พลังงาน ในหน่วยกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตัน ของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ และการใช้น้ำ ในหน่วยลิตรต่อตัน ของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้

ในส่วนของขั้นตอนการผลิตนั้นจะต้องมีการวางแผนการผลิต และมีข้อมูลที่บ่งชี้ถึง คุณลักษณะของผลผลิตในแต่ละขั้นตอนการผลิต วิธีปฏิบัติงาน วิธีการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ปริมาณวัสดุ พลาสติกรีไซเคิล ที่ป้อนเข้า การประยุกต์ใช้วิธีการติดตามวัดผล โดยมีการใช้อุปกรณ์การวัด และตรวจติดตามอย่างเหมาะสม

โดยในขั้นตอนการผลิตนั้นจะต้องมีเอกสารควบคุมการผลิต ซึ่งแสดงถึงผลผลิตในแต่ละขั้นตอน และมีการระบุถึงปริมาณวัตถุดิบพลาสติกที่ป้อนเข้า ผลผลิตที่ได้ ผลพลอยได้จากการผลิตและของเสียจากกระบวนการผลิต

ในส่วนของวัตถุดิบที่ป้อนเข้านั้น ทางองค์กรต้องสามารถระบุชุดของวัตถุดิบที่รับเข้า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ส่งมอบทุกๆรายได้

ในกรณีที่มีการใส่สารเติมแต่ง (Additives) หรือมาสเตอร์แบทช์ (Masterbatch) จะต้องมีการระบุปริมาณที่ใช้ในกระบวนการผลิตด้วย

ด้านการประเมินประสิทธิภาพในการผลิตนั้น  ทางองค์กรจะต้องจัดให้มีการ กำหนดรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง โดยข้อมูลที่ประเมินนั้นควรประกอบไปด้วยปริมาณการผลิต เวลาหยุดงาน  ผลผลิตที่ได้ และระดับการนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล

การตรวจสอบคุณภาพระหว่างการผลิตและผลิตภัณฑ์ พลาสติกรีไซเคิล

ทางบริษัทผู้ผลิต เม็ด พลาสติกรีไซเคิล และ ผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้น จะต้องมีการกำหนดสเปคของทั้ง ผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่เป็นมาตรฐาน และต้องมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นระบบเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้น เป็นไปตามสเปคที่กำหนด โดยในการตรวจสอบสเปคนั้นต้องใช้มาตรฐานการตรวจสอบ และเครื่องมือที่เป็นที่ยอมรับอย่างสากล

การจัดเก็บผลิตภัณฑ์

การจัดเก็บทั้งในส่วนของ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ตามมาตรฐาน มตช-9 นั้น จะต้องมีการจัดเก็บในสถานที่ที่เหมาะสม โดยสาระสำคัญอยู่ที่การไม่ทำให้ ทั้งเม็ดพลาสติก  และผลิตภัณฑ์พลาสติกนั้นเกิดการเสื่อมคุณภาพ

นอกจากนี้แล้วยังมีข้อบังคับให้ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ ในการนำผลิตภัณฑ์เข้า-ออกและต้องมีการระบุความถี่ในการตรวจสอบข้อมูลที่เก็บกับ จำนวน/ปริมาณที่แท้จริงในสถานที่จัดเก็บอย่างสม่ำเสมอ

การบรรจุและการขนส่งผลิตภัณฑ์ พลาสติกรีไซเคิล

ในการบรรจุและขนส่งผลิตภัณฑ์นั้น จะต้องมีการชี้บ่งถึงล๊อตของผลิตภัณฑ์ เพื่อความสอดคล้องในกระบวนการสั่งซื้อ การเบิกจากคลังจัดเก็บ และการตรวจสอบย้อนกลับของล๊อตการผลิตได้ และในการขนส่งนั้นควรจะแน่ใจว่า สินค้าจะไม่เกิดการเสียหายหรือเปลี่ยนสภาพไป

การจัดการผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด

สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ตกสเปคนั้น ทางมาตรฐาน มตช-9 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ว่า 

ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในกระบวนการผลิต ทำให้เกิดสินค้าที่ไม่เป็นไปตามสเปค หรือข้อตกลงนั้น ทางบริษัทควรมีการแยกสินค้าที่ตกสเปคนั้นออกจากพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการปะปนกันกับสินค้าอื่นๆ

และในกรณีที่ได้มีการตรวจสอบพบความผิดพลาด เมื่อสินค้านั้นได้ถูกจัดส่งไปหาลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น จะต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าและหาแนวทางจัดการปัญหาร่วมกัน เพื่อแก้ไขและแนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

การขาย

ข้อมูลตรงจุดนี้ไม่ได้มีอะไรมากมายครับ เป็นข้อมูลทั่วๆไปตามที่เราระบุไว้ใน ใบส่งสินค้า หรือใบกำกับภาษีกันอยู่แล้ว ได้แก่ ข้อมูลลูกค้า ข้อมูล Supplier รายละเอียดสินค้า จำนวนและปริมาณสินค้าที่จัดส่ง และวันที่จัดส่ง

กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนนี้ทางมาตรฐาน มตช-9 ได้ระบุถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจครับ คือ ไม่ว่าเราจะดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือผลิตภัณฑ์พลาสติก เราควรจะมีการดำเนินการขอใบอนุญาต และปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นๆ อย่างถูกต้อง และไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่เป็นการละเมิดต่อข้อกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นอันขาด

สิ่งแวดล้อม

ทางมาตรฐานนั้น กำหนดให้ทางบริษัทจะต้องมีการจัดการ และแสดงความรับผิดชอบต่อของเสียที่เกิดขึ้น และต้องสร้างความมั่นใจว่า ของเสียเหล่านี้จะไม่มีการปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมยกตัวอย่างเช่น การจัดเก็บของเสียจะต้องอยู่ในบริเวณที่จัดการเพื่อไม่ให้ของเสียนั้น หลุดรอดออกไปปะปน และในกรณีที่มีการปลดปล่อยของเสียหรือมลพิษจากการผลิตออกสู่สิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องมั่นใจว่าของเสียนั้น จะต้องได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง ตามมาตรฐานของหน่วยงานกำกับดูแล ได้กำหนดเอาไว้


หลังจากได้อ่านรายละเอียดตามาตรฐานที่ผมได้สรุปมาให้แล้ว หลายท่านอาจจะคิดว่ามีความยุ่งยากซับซ้อนเต็มไปหมด… แต่จริงๆแล้วผมอยากจะเรียนทุกท่านอย่างนี้ครับว่า สิ่งที่มาตรฐานมตช-9 ได้กำหนดและสื่อสารออกมานี้ เป็นสิ่งที่เป็นข้อกำหนด และแนวทางที่สากลยอมรับและปฏิบัติร่วมกันครับ

ดังนั้น ทางฝั่งประเทศไทยของเราที่พึ่งจะมีมาตรฐานตัวนี้ออกมา ก็ควรจะต้องเริ่มมีการปรับเปลี่ยนต่างๆตามไป โดยอาจจะเริ่มจากข้อมูล หรือแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่เรามีอยู่ก่อนก็ได้ครับเพื่อให้ธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล ของเรามีความยั่งยืนแบะมาตรฐานที่ทัดเทียมกับต่างชาติได้ครับ


หากท่านใด ต้องการปรึกษาหรือขอรายละเอียดเกี่ยวกับ มาตรฐาน มตช-9 นี้ หรือ การนำมตช-9 ไปใช้ในธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ ธุรกิจผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติก สามารถติดต่อผมโดยตรงได้ที่ ติดต่อเรา หรือ โทรติดต่อ

Message us