ประกาศ อนุญาตให้ใช้ ”พลาสติกรีไซเคิล” ในบรรจุภัณฑ์อาหาร ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 มิย 65 แล้วมันปลอดภัยกับผู้บริโภค จริงหรือ?
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่าน ได้มีการประกาศสำคัญลงในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการ “กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก” ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวกับ การอนุญาตให้ใช้ พลาสติกรีไซเคิล ในบรรจุภัณฑ์อาหารได้… ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศนี้ออกมา หลายๆท่านอาจจะยังเกิดความสงสัยว่า…
!!!การใช้งานบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนั้น เราจะสามารถมั่นใจในความสะอาด และปลอดภัยได้อย่างไร????
บทความนี้ ผมจะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศฉบับนี้ โดยจะเป็นการสรุปให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ถึงมาตรฐานและข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้พวกเรา สามารถตัดสินใจได้ว่า ภาชนะใส่อาหารที่มีส่วนประกอบของเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ปลอดภัยหรือไม่???
การใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อาหาร มีมานานแล้วนะ
การนำภาชนะที่ใช้บรรจุอาหาร นำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของการรีไซเคิลมีมานานมากแล้วนะครับ แต่จะถูกจำกัดอยู่ในภาชนะประเภท แก้ว อลูมิเนียม สแตนเลส หรือภาชนะที่เป็นโลหะ เนื่องจากในกระบวนการรีไซเคิลของภาชนะในกลุ่มนี้ จะมีการใช้อุณภูมิการหลอมที่สูงมากๆ จริงทำให้สิ่งเจือปนหรือเชื้อโรคต่างๆถูกกำจัดออกไปโดยหมดสิ้นจึงทำให้เราสามารถมั่นใจในความสะอาด และปราศจากสารปนเปื้อนในกลุ่มของภาชนะเหล่านี้ได้…
ในขณะที่ภาชนะบรรจุอาหารพลาสติกนั้น การรีไซเคิลจะมีอยู่แค่ในขั้นตอนกระบวนการผลิตเท่านั้น ที่เราเรียกว่าการรีไซเคิลแบบปฐมภูมิ (Primary Recycle) เท่านั้น กล่าวคือ ทางโรงงานผู้ผลิตจะนำเศษพลาสติกที่เป็นของเสียในกระบวนการผลิตภาชนะต่างๆเหล่านี้ นำมาบดย่อยและนำกลับมาผสมกับเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ เพื่อผลิตเป็นภาชนะบรรจุภัณฑ์อาหาร…
แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นในแถบทวีปยุโรป อเมริกา หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างก็มีความตื่นตัวในการนำขยะพลาสติกในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารนำกลับมารีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาในการจัดการขยะในกลุ่มนี้ซึ่งมีปริมาณสูงมากในแต่ละวัน และยังเป็นการส่งเสริมแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยของเราต้องบอกเลยครับว่า กว่าประกาศ ข้อบังคับฉบับนี้จะออกมาเนี่ย ใช้เวลา โต้เถียงกันในรายละเอียดนานมากครับกว่าทางฝั่ง หน่วยงานที่รับผิดชอบจะพิจารณาอนุญาต…เรียกว่ารอแล้วรอเล่ากว่าจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการสักที เราลองมาดูกันเลยครับว่า ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดมาตรฐาน และข้อบังคับเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติก ที่มีเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบ อย่างไรบ้าง
มาทำความรู้จัก ประเภทของพลาสติกรีไซเคิล และการรีไซเคิล ที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติก กัน
อันดับแรก เรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่า ประกาศฉบับนี้ ได้มีการกำหนดประเภทของการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ เอาไว้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ.
- การรีไซเคิลแบบปฐมภูมิ (Primary Recycling) อย่างที่ผมได้อธิบายไปข้างต้นแล้วนะครับว่า การรีไซเคิลแบบบนี้ จะเป็นการรีไซเคิลในกรับวนการผลิต ที่เป็นการนำพลาสติกที่เสียจากกระบวนการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่โดยเป็นการผสมกับ เม็ดพลาสติก virgin
- การรีไซเคิลแบบทุติยภูมิ (Secondary Recycling) เป็นการนำขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกนำกลับมาผ่านกลับมาผ่านกระบวนการคัดแยก, บดย่อย, ทำความสะอาด และหลอมผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล แล้วนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในรูปแบบต่างๆ
- การรีไซเคิลแบบตติยภูมิ (Tertiary Recycling) เป็นกระบวนการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกเช่นเดียวกับแบบ ทุตินภูมิ แต่จะเป็นการใช้กระบวนการทางเคมีเพื่อทำปฏิกิริยาพอริเมไรเซชั่นแบบย้อนกลับ (Depolymerization) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นสารมอนอเมอร์ที่มีความบริสุทธิ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก virgin ได้คล้ายๆกับเป็นการพื้นคืนชีพจากพลาสติกที่ถูกใช้งานแล้ว กลับไปเป็นพลาสติก virgin นั่นเองครับ
ต่อไป เรามาทำความเข้าใจประกาศฉบับนี้ แบบสรุปสั้นๆกัน
เมื่อเราเข้าใจประเภทการรีไซเคิลที่ ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดไว้แล้ว ลำดับต่อไปมาลองดูรายละเอียดในเรื่องอื่นๆ ซึ่งผมจะมาสรุปให้ทุกท่านเข้าใจแบบง่ายๆเป็นข้อๆ เลยครับ
- ภาชนะบรรจุอาหารที่อยู่ในขอบข่ายของประกาศนี้ คือ ภาชนะบรรจุอาหารที่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง (Food Contact) ไม่ว่าจะเป็นการใส่ การห่อ หรือภาชนะหลายวัสดุ (Composite) ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบจะโดยการเคลือบผิวหรืออัดประกบติดกัน (Multi-layer)
- ภาชนะที่ใช้นั้นต้องมีความสะอาด ไม่มีจุลินทรีย์ ที่ทำให้เกิดโรค และไม่มีสารอันตรายที่แพร่สู่อาหาร ซึ่งประกาศนี้ได้ระบุสารที่อนุญาตให้มีการแพร่สู่อาหารได้ในปริมาณเล็กน้อย แต่ต้องไม่เกินกว่าค่าที่กำหนด โดยสารต่างๆเหล่านี้และปริมาณที่กำหนด สามารถแสดงได้ดังรูปด้านล่าง
- ในกรณีที่ภาชนะบรรจุอาหารมีการแต่งสีเพื่อความสวยงามนั้น สีที่ใช้จะต้องเป็นสีที่ใช้กับอาหารโดยเฉพาะ (Food Grade) และในกรณีที่ภาชนะมีการสกรีนสีลงบนพื้นผิวนั้น ต้องแน่ใจว่าสีที่สกรีนต้องไม่หลุดติดลงไปปะปนกับอาหารซึ่งต้องมีการตรวจสอบการแพร่กระจาย สารไพรมารีแอโรแมติกแอมีนส์ ดังรายการ ดังต่อไปนี้
- ต้องมีการตรวจวัดการแพร่กระจายลงสู่อาหาร ของสารที่เป็นโลหะหนัก จำนวน 19 รายการดังนี้
- ภาชนะพลาสติกที่ใช้บรรจุนมหรือผลิตภัณฑ์นม ต้องเป็นพลาสติก ชนิด PE, PP, PS, PET หรือ เอทิลีน 1-แอลคีนเท่านั้น
หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบพลาสติกรีไซเคิล และกำกับดูแลประกาศฉบับนี้ คือใคร?
โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ กำกับดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัย คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งทางผู้ผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของ เม็ดพลาสติกรีไซเคิลนั้น จะต้องมีการส่งเอกสารรับรองทางด้านความปลอดภัยให้กับทาง อย. ตรวจสอบรับรอง ก่อนที่จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวครับ
จากสิ่งที่ผมได้สรุปจากประกาศมาให้ทุกๆท่านไดอ่านนี้… น่าจะทำให้หลายท่านสบายใจ และมีความมั่นใจขึ้น และลดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ในการใช้งานผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุอาหารที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล
ในตอนหน้าผมจะพาทุกๆท่าน ตามไปดูกันต่อครับว่า จากข้อบังคับที่ออกมานี้ ผลกระทบหรือสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอาหาร และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหารมีอะไรบ้าง… เชิญติดตามต่อในตอนต่อไปครับ
หากท่านเป็นบริษัทที่ผลิต บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติก และต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการนำพลาสติกรีไซเคิลไปใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหาร สามารถปรึกษาเราได้ที่ -> ติดต่อเรา