5 Trend พลาสติกรีไซเคิล ปี 2566 ตามแนวทางของ เศรษฐกิจหมุนเวียน

5 Trend พลาสติกรีไซเคิล ที่จะเกิดขึ้นปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่อุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ถูกพลิกโฉม และขับเคลื่อนไปข้างหน้า ด้วยหลักแนวคิดของ เศรษฐกิจหมุนเวียน  เทรนด์ที่ว่านี้ จะมีอะไรบ้าง เชิญท่านผู้อ่านติดตามได้จากบทความนี้เลยครับ

5 Trend พลาสติกรีไซเคิล ปี 2566 ตามแนวทางของ เศรษฐกิจหมุนเวียน

    สวัสดีปีใหม่ 2556 ทุกๆท่านนะครับ ขอให้เป็นปีที่ดี มีแต่สิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตนะครับ และแน่นอนครับ สำหรับปีใหม่นี้ทาง P S M Plasitech เราได้มีการทำ research และ ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล และได้ทำการเรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับ Trend ของพลาสติกรีไซเคิล ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ เหมือนดังที่เราเคยรวบรวมไว้ใน เทรนด์พลาสติกรีไซเคิล ปี 2565 ที่ผ่านมา จะมีเรื่องอะไรที่เป็นเทรนด์ ที่น่าสนใจบ้าง เชิญติดตามอ่านกันได้เลยครับ

    ในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น แนวคิดเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญกับอุตสาหกรรมทางด้านพลาสติกและ พลาสติกรีไซเคิล เป็นอย่างมาก ซึ่งแนวคิดหลักๆนั้น จะเป็นในเรื่องของการนำพลาสติกที่ใช้แล้ว นำกลับมารีไซเคิลและหมุนเวียนใช้ใหม่ เพื่อเป็นการลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์ (Virgin) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการลดการใช้พลังงาน การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแสดงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด อย่างคุ้มค่าอีกด้วย

    ความหมายของ เศรษฐกิจหมุนเวียน

    อย่างที่ได้กล่าวถึง เศรษฐกิจหมุนเวียน ไปแล้ว เราจะมาทำความเข้ากันครับว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ อะไร และมีบทบาทสำคัญที่สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของแนวคิดและการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมพลาสติก และพลาสติกรีไซเคิล อย่างไร

    เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยเป็นแนวคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกๆภาคส่วน (Stakeholder, Actor) ในวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติก1

    ซึ่งถ้าเราพิจารณาอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ในแง่ของเศรษฐกิจหมุนเวียน จะสามารถให้คำจำกัดความได้ว่า เป็นแนวคิดที่จะเข้ามาช่วยให้เกิดการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรพลาสติกอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน โดยเราสามารถให้คำจำกัดความสั้นๆ เกี่ยวกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพยากรพลาสติก ได้ดังนี้

    1. เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นลดการใช้งาน พลาสติกบริสุทธิ์ (Virgin) ซึ่งเป็นผลผลิตที่เกิดจากกระบวนการทางปิโตรเคมี
    2. ลดการใช้พลังงาน และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งนิยมพิจารณา ในรูปแบบของ Carbon Footprint) ในวัฏจักรชีวิต ของผลิตภัณฑ์พลาสติก
    3. การพยายามคงคุณค่าของทรัพยากรพลาสติก ทั้งในเชิงของ คุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) และ คุณค่าทางวัสดุ (Material Value) ในแต่ละวงรอบชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติก เอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความสิ้นเปลือง หรือความสูญเสียมูลค่าในตัวทรัพยากรพลาสติก

    ซึ่งหลักแนวคิดเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน กับ พลาสติกรีไซเคิล นั้น ในประเทศไทยของเราได้มีความตื่นตัว และมีการรณรงค์เรื่องนี้กันอย่างจริงจังเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลากลายประเทศทั่วโลกทีเดียวครับ ทีนี้เราลองมาดูกันครับว่า ในประเทศไทยเรานั้น มีนโยบายทางด้าน เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล อย่างไรบ้าง

    นโยบายทางด้าน เศรษฐกิจหมุนเวียน ของประเทศไทย

    ในส่วนของนโยบายทางฝั่งภาครัฐนั้น ประเทศไทยเราได้มีการตั้งโรดแมพในการเป็นประเทศที่มีการขับเคลื่อนนโยบายทางด้าน เศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2580 (2037) โดยมุ่งเน้นเรื่องการ ใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด  ลดขยะและมลภาวะภายในประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาทางด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

    โดยในส่วนของอุตสาหกรรมพลาสติกนั้น ทางภาครัฐได้มีการตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกภายในประเทศให้ได้ 80% ภายในปี พ.ศ. 2570 (2027) ผ่านข้อบังคับและมาตรการบริหารจัดการการใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกและการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งพวกเราน่าจะมีความคุ้นเคยกับบางนโยบายที่ได้บังคับใช้เรียบร้อยแล้ว เช่น การลดการใช้งานพลาสติกจำพวกใช้ครั้งเดียวทิ้ง นโยบายการส่งเสริมการใช้งาน พลาสติกรีไซเคิล นโยบายการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ หรือจะเป็นนโยบายที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐและเอกชน ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่หรือโมเดลธุรกิจสร้างสรรค์ในการจัดการกับขยะพลาสติก หรือในกระบวนการ รีไซเคิลพลาสติก อีกด้วย

    ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านน่าจะพอเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับนโยบายและ Action Plan ทางด้าน เศรษฐกิจหมุนเวียน ของทางภาครัฐ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลาสติกรีไซเคิล กันแล้วใช้ไหมครับ และสิ่งนี้นี่แหละครับ คือ กลไกที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลขึ้นมา ซึ่งเราพอจะคาดการณ์ Trend หรือแนวโน้มการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น กับ อุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ในปี พ.ศ. 2566 (2023) ได้เป็นข้อๆดังนี้ ครับ

    5 Trend ในอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 อันเนื่องมาจากอิทธิพล ของ เศรษฐกิจหมุนเวียน

    Trend#1 : เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด และวัตถุประสงค์ของการใช้งานพลาสติกรีไซเคิล อย่างสิ้นเชิง

    แรกเริ่มเดิมทีนั้นวัตถุประสงค์หลักๆของการใช้วัตถุดิบ พลาสติกรีไซเคิล ก็คือ เป็นการลดต้นทุน ทดแทนการใช้วัตถุดิบจากพลาสติกบริสุทธิ์ (Virgin) ซึ่งมีราคาที่สูงกว่า… แต่เนื่องด้วยหลักแนวคิด ข้อบังคับและนโยบายส่งเสริมทางด้าน เศรษฐกิจหมุนเวียน ของทางภาครัฐนั้น จะทำให้กลยุทธ์การใช้งานพลาสติกรีไซเคิลนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง…

    โดยเปลี่ยนจาก “การถูกนำมาใช้เพื่อลดต้นทุน เป็น ถูกบังคับให้ใช้หรือมีส่วนผสมของ พลาสติกรีไซเคิล เพื่อเป็นไปตามข้อบังคับต่างๆ…”

    ซึ่ง ปัจจุบันนี้ในประเทศไทย ทางหน่วยงานในหลากหลายภาคส่วน ได้มีการเตรียมตัวทางด้านกลยุทธ์และนโยบายที่จะมารองรับข้อบังคับต่างๆเหล่านี้ ของทางภาครัฐเรียบร้อยแล้ว อาทิเช่น

    สถาบันพลาสติก (PITH)

    ในปี พศ 2565 นั้นทางสถาบันพลาสติกได้ริเริ่ม “โครงการศึกษาและพัฒนาระบบการรับรองวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของ Post-Consumer Recycled (PCR) เพื่อส่งเสริม Circular Economy ในประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การรับรองสัดส่วนของพลาสติกรีไซเคิลที่เป็นส่วนประกอบอยู่ใน วัตถุดิบเม็ดพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกค่างๆ โดยทาง P S M Plasitech นั้น ได้มีการเข่าร่วมโครงการ(แนบลิ้งค์) ของทางสถาบันพลาสติกนี้เช่นกัน โดยทางบริษัทมีจุดประสงค์ เพื่อเป็นสร้างมาตรฐาน และคุณค่าให้กับวัตถุดิบ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และผลิตภัณฑ์พลาสติกของลูกค้า ตามแนวทางการพัฒนา สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

    สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  

    ได้มีการประกาศใช้ มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ หมายเลข9 (มตช.-9)  (รายละเอียด มตช.-9) เมื่อวันที่ 29 กันยายน พศ 2565 ซึ่งมีเนื้อหาใจความหลัก เกี่ยวข้องกับ การตรวจสอบย้อนกลับการรีไซเคิลพลาสติกและการประเมินความสอดคล้องและส่วนผสมรีไซเคิล ซึ่งตัวมาตรฐาน มตช.-9  ทาง สมอ. ได้มีการนำต้นแบบมาตรฐาน หลายมาตรฐานจากต่างประเทศมาปรับใช้ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานและยกระดับ อุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ตามแนวทาง เศรษฐกิจหมุนเวียน ให้มีความเป็นสากลและทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งทาง P S M Plasitech นั้น ได้มีการนำมาตรฐาน มตช.-9 มาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เม็ดพลาสติกรีไซเคิล เช่นกันครับ

    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

    เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พศ 2565 ได้มีการประกาศอนุญาตให้ใช้ วัตถุดิบที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล ในบรรจุภัณฑ์อาหารได้ (รายละเอียด อย.อนุญาตให้ใช้ พลาสติกรีไซเคิล ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร) ภายใต้ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการตรวจสอบทางด้านความสะอาดและความมั่นใจในความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตามที่ทาง อย. กำหนด ซึ่งประกาศฉบับนี้ ถือเป็นการพลิกโฉม ที่สำคัญเป็นอย่างมาก ต่ออุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ให้มีความทัดเทียมกับนานาชาติเลยทีเดียวครับ โดยมาตรฐานนี้ จะถูกเริ่มนำร่องใช้กับ พลาสติกรีไซเคิล ชนิด PET ก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นกลุ่ม พลาสติกรีไซเคิล ที่มีความพร้อมทั้งในด้านของเทคโนโลยีการรีไซเคิล และการปฏิบัติงานทางด้านการรีไซเคิลภายในประเทศนั่นเองครับ

    ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)

    ได้มีการทำความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งในด้านองค์ความรู้ การออกแบบ การทดสอบ มาตรฐานด้านการทดสอบวัสดุ จากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ สู่ภาคธุรกิจของประเทศไทย โดยในปี งบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาได้ มีการจัด “โครงการออกแบบและการพัฒนาต้นแบบ Design solution โดยใช้หลักคิด Circular Economy ให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย” ซึ่งทาง P S M Plasitech ก็ได้เข้าร่วมการถ่ายทอดความรู้ กับทาง MTEC ในโครงการนี้ด้วยครับ


    Trend #2 : มาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ พลาสติกรีไซเคิลจะถูกนำมาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของ เศรษฐกิจหมุนเวียน

    จากในข้อที่แล้วนะครับ ซึ่งพลาสติกรีไซเคิล จะถูกบังคับให้ใช้เป็นไปตามข้อกำหนดตามความต้องการ หรือข้อบังคับต่างๆนั้น… สิ่งที่ตามมาทันทีเลยคือ 

    “พลาสติกรีไซเคิลนั้นจะถูกใช้ กับการใช้งานที่ต้องการคุณค่า และมูลค่าของงานที่สูงขึ้น” 

    ยกตัวอย่างเช่น ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบ ในการขึ้นรูปชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร / ไม่สัมผัสอาหาร ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะอยู่ภายใต้ข้อบังคับในเรื่อง ส่วนผสมของ พลาสติกรีไซเคิล ที่ต้องมี (Binding Content)… เนื่องมาจาก Requirement จากทางลูกค้า ข้อตกลงของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม หรือนโยบายของทางภาครัฐในแต่ละประเทศเป็นต้น

    และแน่นอนครับ เมื่อ พลาสติกรีไซเคิล ถูกนำมาใช้กับงานที่มี Value ในลักษณะนี้ ย่อมจะต้องมีมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิต การตรวจสอบควบคุมคุณภาพ หรือมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมจะขอยกตัวอย่างมาตรฐาน ที่เกี่ยวกับพลาสติกรีไซเคิล บางมาตรฐานที่มีความสำคัญ ทั้งในส่วนของประเทศไทยที่ได้มีการประกาศใช้งานแล้ว และมาตรฐานสากลซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และจะถูกนำมาใช้ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ครับ…

    ตัวอย่างของมาตรฐานภายในประเทศ

    1. มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ หมายเลข 9 (มตช.-9) : จะเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ การระบุถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ พลาสติกรีไซเคิล ไล่มาตั้งแต่ Supplier ของวัตถุดิบรีไซเคิล ประเภทของวัตถุดิบ กระบวนการแปรรูป scrap พลาสติกรีไซเคิล มาเป็นวัตถุดิบพลาสติกรีไซเคิล และนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบ พลาสติกรีไซเคิล นั่นเองครับ ซึ่งหัวใจสำคัญของมาตรฐาน มตช.-9 นี้ ก็คือ เป็นการเก็บข้อมูลโดยละเอียด ในทุกช่วงวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของผลิตภัณฑ์พลาสติก นั่นเองครับ
    2. มาตรฐานการรับรองส่วนผสมของ Post-Consumer Recycled (PCR) : ผมขออนุญาต เรียกมาตรฐานนี้สั้นๆว่า การรับรองสัดส่วน PCR Content นะครับ ซึ่งมาตรฐานนี้ ทาง สถาบันพลาสติก ซึ่งเป็นผู้ให้การรับรอง  นำมาตรฐาน มตช.-9 และมาตรฐาน ISO ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสัดส่วน พลาสติกรีไซเคิลมากำหนดเป็นแบบแผน และแนวทางในการรับรอง PCR Content โดยทางสถาบันฯ สามารถให้การรับรองได้ใน 2 ลักษณะ คือ PCR Content ในวัตถุดิบ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล และ PCR Content ในผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งทาง P S M Plasitech ได้มีการดำเนินการขอขึ้นทะเบียน PCR Content สำหรับ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล กับทางสถาบันพลาสติก ด้วยเช่นกันครับ
    3. มาตรฐานความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติกรีไซเคิล ในบรรจุภัณฑ์อาหาร : ในส่วนของทางฝั่งบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหารนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งทางฝั่ง อย. และทางด้านกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ได้มีการกำหนดมาตรฐานทางด้านข้อกำหนดของ พลาสติกรีไซเคิล ที่จะนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมถึงการตรวจสอบทางด้านความปลอดภัย และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 435/2565 เรื่อง การกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งเป็นการประกาศใช้แทน ฉบับที่ 295/2548 เดิม

    ตัวอย่างมาตรฐานของต่างประเทศ

    ในส่วนนี้ ผมจะขอยก เป็นชื่อของ มาตรฐาน/ข้อกำหนด เพียงเท่านั้น จะยังไม่ลงรายละเอียดในแต่ละมาตรฐาน และจะขอ เขียนอธิบายแบบลึกซึ้ง ในบทความต่อไปครับ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นภาพในอนาคตคร่าวๆ ครับว่า จะมีมาตรฐานสากล อะไรที่จะถูกนำมาบังคับใช้ใน ประเทศไทยบ้าง

    มาตรฐานในต่างประเทศ ได้แก่ Global Recycle Standard (GRS), EuCertPlas หรือ RecyClass เป็นต้น


    Trend #3 : การปรับตัวราคาของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่สูงขึ้น จนแซงหน้าเม็ดพลาสติก Virgin

    แต่เดิมนั้นวัตถุประสงค์หลักของการใช้งาน พลาสติกรีไซเคิล คือ เป็นการใช้งานเพื่อลดต้นทุนจากการใช้งานพลาสติกบริสุทธิ์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนั้น มีราคาที่ถูกกว่าวัตถุดิบเม็ดพลาสติก virgin ค่อนข้างมาก… แต่เนื่องด้วยหลักแนวคิดทาง เศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบกับนโยบายในการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของพลาสติกแต่ละชนิดนั้น มีส่วนเป็นอย่างมากต่อราคา และต้นทุนการจัดการของขยะพลาสติกรีไซเคิล

    โดยปกติแล้วปัจจัยทางด้านราคาของ พลาสติกรีไซเคิลนั้น จะขึ้นอยู่กับหลายอย่าง อาทิเช่น ปัจจัยทางด้านอุปสงค์ อุปทาน (Demand & Supply), ราคาของน้ำมันดิบในตลาดโลก หรือจะเป็นต้นทุนในการจัดการขยะพลาสติก…

    แต่ด้วยหลักแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ถูกบังคับใช้อย่างแพร่หลายนั้น ทำให้ต้นทุนในการผลิต เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จากขยะพลาสติกนั้น ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

    เหตุผลภายใต้การปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เช่น

    • การใช้งาน พลาสติกรีไซเคิล สมัยใหม่นั้น อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของการนำขยะพลาสติกกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์ประเภทเดิม (Close the loop) ในลักษณะของการเปลี่ยนจากขยะมาเป็นทรัพยากรทางด้านวัตถุดิบ ซึ่งเมื่อโจทย์การใช้งานถูกตั้งต้นมาในลักษณะนี้แล้ว ดังนั้น ปัจจัยในด้านความสะอาด ความปลอดภัย ความซับซ้อนของการคัดแยกประเภทของขยะพลาสติกนั้น ย่อมที่จะมีความเข้มงวดตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยต่างๆของหลักการและเหตุผลในการจัดการต่างๆเหล่านี้ นำมาซึ่งต้นทุนในการคัดแยก ดำเนินงาน หรืออาจจะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง นำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ราคา เม็ดพลาสติกรีไซเคิล คุณภาพสูง ที่จะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่องว่างของส่วนต่างระหว่าง เม็ดพลาสติก รีไซเคิล และเม็ดพลาสติกบริสุทธิ์นั้นลดลง
    • แนวคิดของ เศรษฐกิจหมุนเวียน นั้น สร้างความตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อม และการลดการใช้งานพลาสติกบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการทางปิโตรเคมี สิ่งที่ตามมาจากผลพวงของแนวคิดนี้ คือ ทั่วโลกต่างมีความตื่นตัวกับหลักแนวคิดของ เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Development) สิ่งต่างๆเหล่านี้ถูกนำมาสร้างการรับรู้และปฏิบัติจริง ผ่านทางการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางด้านภาษี ข้อกำหนดปริมาณของ พลาสติกรีไซเคิล ขั้นต่ำ เครดิตคาร์บอน หรือจะเป็นการกำหนดมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบ… ดังนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ความต้องการของ พลาสติกรีไซเคิล นั้น จะมีมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จนทำให้อุปสงค์นั้นมีมากขึ้นกว่าอุปทานอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาวัตถุดิบของขยะ พลาสติกรีไซเคิลนั้น ดีดตัวขึ้นแบบขนิดที่ไม่มีใครคาดคิด เลยครับ
    • เราต้องยอมรับว่า ณ จุดที่ความต้องการใช้งาน พลาสติกรีไซเคิล เพิ่มขึ้นมากขึ้นอย่างรวดเร็วและมีนัยยะสำคัญ มันย่อมส่งผลต่ออุปสงค์ต่อ พลาสติก Virgin อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนครับเมื่อเราพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์ ราคาของเม็ดพลาสติก Virgin ย่อมมีการอ่อนตัวลง ณ ช่วงเวลาหนึ่งหรืออาจจะยาวนานกว่านั้น เพื่อเป็นการปรับสมดุลระหว่าง Demand and Supply ในตลาดของพลาสติก Virgin นั่นเอง… ซึ่งจากหลักการทางเศรษฐกิจ และเหตุปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์นั้น เลยทำให้ มีแนวโน้มที่ราคาของพลาสติกรีไซเคิลนั้น จะเข้ามาใกล้กับ ราคาของพลาสติก Virgin หรืออาจจะแซงไปเลยก็เป็นที่ที่เป็นไปได้เช่นกัน

    เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจะขอยกตัวอย่าง ตลาด พลาสติกรีไซเคิล ประเภท PET มาให้ลองพิจารณาประกอบกันครับ สำหรับเหตุผลที่ผมยกตัวอย่างพลาสติก PET มานั้น เนื่องมาจาก พลาสติก PET นั้น เป็นพลาสติกที่มีกระบวนการจัดเก็บ กระบวนการรีไซเคิล เทคโนโลยีของการรีไซเคิล และการนำพลาสติก PET รีไซเคิล หรือ rPET เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าผ่านการพัฒนาในกระบวนการรีไซเคิลมามากกว่า 20 ปี… โดย กราฟราคาของ พลาสติก rPET ทั้งชนิดที่เป็น Food Grade และ Non-Food Grade เทียบกับ PET Virgin ตั้งแต่ ปี 2016-2022 สามารถแสดงได้ด้านล่างครับ

    กราฟแสดง ราคาของเม็ดพลาสติก rPET เปรียบเทียงกับ Virgin PET ตั้งแต่ปี 2016-2022

    กราฟแสดง ราคาของเม็ดพลาสติก rPET เปรียบเทียงกับ Virgin PET ตั้งแต่ปี 2016-20222

    เมื่อพิจารณาจากกราฟที่แสดง ท่านผู้อ่านจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยนะครับว่า แนวโน้มพลาสติก rPET ชนิด Food Grade นั้นมีราคาสูงกว่า PET Virgin มาโดยตลอด เนื่องจากใช้กรรมวิธีการผลิตด้วยเทคโนโลยีและต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้ราคาขายนั้นสูงตามไปด้วย ในขณะที่ กลุ่ม Non Food Grade นั้น ราคาค่อนข้างผันผวนตามตลาดและความต้องการใช้งาน แต่เราก็จะเห็นในบางช่วงที่ราคาสูงกว่า PET Virgin เช่นเดียวกัน

    ซึ่งถ้าเราใช้บรรทัดฐานจาก อุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ชนิด PET มาเป็นต้นแบบแล้วนั้น สำหรับอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิลชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น PP, PE, PS, ABS และอื่นๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีลักษณะรูปแบบเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่จะมากำหนดราคา พลาสติกรีไซเคิล กลุ่มเหล่านี้ ก็คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรีไซเคิลพลาสติกกลุ่มนี้ ให้มีความบริสุทธิ์และกำจัดสิ่งเจือปนต่างๆออกนั้น จะมีประสิทธิภาพขนาดไหน และเสถียรภาพในการรีไซเคิลของอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อใด?


    Trend #4 : แนวคิด Extended Producer Responsibility (EPR) จะแพร่หลาย และถูกนำมาบังคับใช้

    Extended Producer Responsibility (EPR) เป็นหลักปฏิบัติในการขยายขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ให้ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชีวิตซึ่งผลิตภัณฑ์นั้น ได้ถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ผลิตมาเรียบร้อยแล้ว โดยหน้าที่ความรับผิดชอบเหล่านี้ได้แก่ การจัดเก็บขยะผลิตภัณฑ์ ขนส่ง/นำกลับมาเพื่อทำลาย หรือรีไซเคิล… วัตถุประสงค์หลักของ EPR นั้น เพื่อลดผลกระทบ (Impact) ที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆจะมีต่อสิ่งแวดล้อม ในตลอดทั้งช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์  ซึ่งกลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่มักจะถูกบังคับด้วยข้อกำหนด EPR ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเลคทรอนิกส์ แบตเตอรี่ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ และผลิตภัณฑ์ พลาสติกเป็นต้น

    สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมพลาสติกนั้น ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง ในกรณีของ ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งหลักการของ EPR นั้นจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เกี่ยวข้องหลากหลายภาคส่วนด้วยกัน ดังแสดงในรูป

    รูปแสดง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในทุกๆช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ เมื่อพิจารณาตามหลักคิดของ

    รูปแสดง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในทุกๆช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ เมื่อพิจารณาตามหลักคิดของ EPR3

    โดยผู้เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสีย (Stakeholders) นั้น ได้แก่

    1. ผู้ผลิต (Manufacturer) : คือผู้ผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ
    2. เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ (Brand Owner) : แบรนด์หรือธุรกิจต่างๆ ที่มีการใช้งานบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อหีบห่อ/บรรจุ สินค้าของตนเอง 
    3. ผู้จัดจำหน่าย (Retailer) : บริษัท หรือห้างร้าน ที่นำผลิตภัณฑ์ มาจัดจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค
    4. ผู้บริโภค (Consumer) : ผู้ซื้อสินค้า ที่ถูกบรรจุด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ หรือยา เป็นต้น
    5. ธุรกิจจัดเก็บ และจัดการด้านขยะ (Recycle and Waste Management) : ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดเก็บ ขนส่ง คัดแยก ทำลาย หรือนำบรรจุภัณฑ์พลาสติก กลับมารีไซเคิล
    6. ส่วนภาครัฐ (Goverment) : ผู้ซึ่งมีหน้าที่หลักในการร่างนโยบาย EPR และบังคับใช้ ทั้งยังครอบคลุมไปถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้การสนับสนุน ภาคส่วนต่างๆในการดำเนินงานอีกด้วย
    7. กลุ่มองค์กรอิสระทางด้านสิ่งแวดล้อม (Organisation) :  คือกลุ่มคนซึ่ง มีหน้าที่ตรวจสอบ เสนอแนะ ผลักดัน นโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

    ซึ่งผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการบังคับใช้ EPR ก็จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากภาครัฐ นั่นเองครับ ซึ่งการบังคับใช้มาตรการด้าน EPR จะออกมาในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น

    1. ข้อบังคับ เกี่ยวกับนโยบายทางด้าน EPR
    2. มาตรการทางด้านภาษี หรือค่าธรรมเนียมส่วนที่ ทางผู้ผลิต ผู้นำเข้า เจ้าของแบรนด์ต้องจ่ายเพิ่มเติมตาม ข้อกำหนดตามนโยบาย EPR
    3. มาตรการช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนทางด้านงบประมาณบางส่วนให้กับผู้ผลิต เพื่อใช้ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก และการนำไปรีไซเคิล
    4. การให้ความรู้และประชาสัมพันธ์กับผู้บริโภค ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกเมื่อใช้งานเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกใช้ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    5. กำหนดมาตรฐาน ข้อตกลงร่วมกัน ในด้านการออกแบบและเลือกใช้วัสดุ สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่เหมาะสม  เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บ คัดแยก และรีไซเคิล

    ในส่วนของประเทศไทยนั้น นโยบาย EPR นั้น ทางภาครัฐได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ4 พ.ศ. 2562-2573 แต่แนวทางการปฏิบัตินั้นยังคลุมเครือ ในทางกลับกันปัจจุบันนี้ ผู้ที่เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย EPR นั้น ได้แก่แบรนด์เจ้าของผลิตภัณฑ์ระดับโลกที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย และที่มีความเกี่ยวข้องกับ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก และนับวันจะแพร่หลากมากยิ่งขึ้นครับ แล้วเมื่อใดก็ตามที่นโยบายขอบภาครัฐมีความชัดเจนให้เรื่องนี้ นโยบาย EPR ในประเทศไทยเรา ก็จะมีความจริงจังและเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้นครับ


    Trend #5 : เกิดความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

    เราต้องยอมรับกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ในทุกๆวันนี้พลาสติกเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมากและเป็นสิ่งที่สะสมมาเป็นระยะเวลาที่นานมากทีเดียว ซึ่งเราต้องรับความจริงว่า ผู้คนส่วนใหญ่นั้น ยังมีความเคยชินกับ เศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) หรือ ผลิต-ใช้งาน-ทิ้ง นั่นเอง ดังนั้นในประเทศไทยนั้น การปรับเปลี่ยนจาก Linear Economy มาสู่ Circular Economy นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และความร่วมมือกันอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิดและหลักการปฏิบัติเดียวกัน อย่างชัดเจน เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน ในประเทศไทยเรา อย่างยั่งยืน

    มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงจะมีความสงสัยว่า แล้วเราจะมีแนวทางการดำเนินการ ในภาคส่วนของอุตสาหกรรม พลาสติก อย่างไรหล่ะ… ในหัวข้อนี้ผมจะให้ข้อมูลของหลักคิด และหัวใจสำคัญ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ในการช่วยกันพัฒนา ภาคอุตสาหกรรมพลาสติก และพลาสติกรีไซเคิล ของไทย ให้เข้าสู่รูปแบบของ เศรษฐกิจหมุนเวียน… โดยผมจะอธิบาย หลักคิดทาง ด้าน Circular Economy5 มีดังนี้ครับ

    1. การคิดอย่างเป็นระบบ (System Thinking) คือ การวางแผนอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิต ของผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยพิจารณาผลกระทบที่มีต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน และเศรษฐกิจ
    2. การบริหารจัดการคุณค่า (Value Organization) คือ การพิจารณาหา Solution หรือ โมเดลธุรกิจที่เหมาะสม สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยพิจารณาตลอดในทุกๆรอบการใช้งาน เพื่อเป็นการ คงไว้ซึ่งคุณค่าของพลาสติก (Value Retention) สร้างคุณค่าเพิ่มเติมให้แก่พลาสติก (Value Creation) และสร้างคุณค่าให้แก่พลาสติกขึ้นมาให้ (Value Regeneration) ในกรณีที่คุณค่าของวัสดุพลาสติกนั้น ถูกทำลายไปในกระบวนการใช้งาน หรือกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ที่ต้องมีการพิจารณาในหลากหลายมิติเช่นนี้ เป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน
    3. การแบ่งปันคุณค่าร่วมกัน (Value Sharing) คือ การทำงานร่วมกัน เพื่อสร้าง Solution หรือ โมเดลธุรกิจระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกๆช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติก เพื่อเป็นการแบ่งปันคุณค่าของสินค้าและบริการในทุกๆช่วงวัฏจักรชีวิต อย่างทั่วถึง
    4. การวางแผนทรัพยการพลาสติก (Resource Availability Focus) คือ การบริหารจัดการทรัพยากรพลาสติก ทั้งในด้านการไหลของพลาสติกในแต่ละช่วงวัฏจักรชีวิต ปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน การบริหารจัดการและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
    5. การตรวจสอบย้อนกลับทรัพยากรพลาสติก (Resource Traceability) คือ การบริหารจัดการ จัดเก็บข้อมูลของผลิตภัณฑ์พลาสติก ตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติก อย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรงไปตรงมา และสามารถตรวจสอบย้อนกลับตลอดช่วงวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกได้  ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อขบวนการ คงคุณค่า (Value Retention) สร้างคุณค่าเพิ่มเติม (Value Creation) และ สร้างคุณค่าขึ้นมาใหม่ (Value Regeneration) ให้กับผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างยั่งยืน

    เมื่อเราได้เข้าใจและเห็นภาพเกี่ยวกับ หลักคิดทางด้าน เศรษฐกิจหมุนเวียน แล้ว ท่านผู้อ่านน่าจะพอเข้าใจหลักแนวคิดเบื้องต้น และแนวทางการปฏิบัติงานแล้วใช่ไหมครับ ว่าในแต่ละขั้นตอนนั้น ต่างก็ต้องดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือ ในหลายๆภาคส่วนซึ่งมีความเกี่ยวข้องในแต่ละช่วงวัฏจักรชัวิตของ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ไล่ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเลือกใช้พลาสติก การผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค การทิ้ง การเก็บรวบรวม การบริหารจัดการขยะ และการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่เป็นต้น… ซึ่งขั้นตอนกระบวนการเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้สำเร็จลุล่วงด้วย องค์กร หรือหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวครับ


    เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับเทรนและข้อมูลในอุตสาหกรรม พลาสติกรีไซเคิล ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ ผมหวังว่าข้อมูลที่ทาง P S M Plasitech ได้เก็บรวบรวมมานี้ จะเป็นแนวทางให้กับภาคธุรกิจ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลต่อไปนะครับ… สุดท้าย ขอให้ปี 2566 นี้เป็นปีที่ดีของทุกๆท่านนะครับ

    References

    1. Transitioning towards more effective circular and sustainable solutions, Mattias Lindahl, Presentaion at MTEC NSTDA 19th January 2023, presentation slide page 29 
    2. Why pledges alone will not get plastics recycled: Comparing recyclate production and anticipated demand,  Sebastian Kahlert *, Catharina R. Bening, June 2022Resources Conservation and Recycling
    3. http://www.allaboutepr.com/
    4. http://www.trashlucky.com/
    5. The circular economy: towards a new business paradigm with support from public policy, Mattias Lindahl, Carl Dalhammar, BACKGROUND PAPER May 2022, The scientific report, Stockholm+50: Unlocking Better Future.
    Message us